ความเป็นมาของโครงการ อพ.สธ. – มวล.

ความเป็นมาของโครงการ อพ.สธ. – มวล.

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในปี พ.ศ. 2556 ตามประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยพระราชานุญาต สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกาศที่ อพ.สธ. 73/2556 หรือเริ่มในปีงบประมาณ 2557 ซึ่งอยู่ในช่วงแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ระยะ 5 ปีที่ห้า (1 ตุลาคม 2554 – 30 กันยายน 2559) โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำกิจกรรมปกติบางกิจกรรมในโครงการอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้าร่วมสนองพระราชดำริในลำดับแรก

ในปีงบประมาณ 2558 โครงการอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งรับหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (อพ.สธ.-มวล.) ได้เสนอกิจกรรมทุกกิจกรรมของโครงการอุทยานพฤกษศาสตร์เข้าร่วมสนองพระราชดำริตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ นอกจากนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อเชิญชวนหน่วยงานภายในต่างๆได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ และเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานและกิจกรรมของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ

ในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งเป็นปีที่สามที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับพระราชานุญาตให้เข้าร่วมโครงการ ตามประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประกาศที่ อพ.สธ. 83/2558 โดยมีโครงการจำนวน 14 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 2,360,730 บาท ที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เป้าหมายรวม

เพื่อพัฒนาบุคลากร อนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เกิดประโยชน์กับชุมชน

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อสนองพระราชดำริ ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

2. เพื่อความเข้าใจและเห็นความสำคัญของทรัพยากร

3. เพื่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย

4. เพื่อการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ จนเกิดประโยชน์กับชุมชน

5. เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลพันธุกรรมทรัพยากร

แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

ตั้งอยู่บน 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่

1. ทรัพยากรกายภาพ

2. ทรัพยากรชีวภาพ

3. ทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

โดยมีกรอบการทำงาน 3 กรอบการทำงานและ 8 กิจกรรม

 

กรอบ กิจกรรม
1. กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กิจกรรมที่ 1. กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช
กิจกรรมที่ 2. กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช
กิจกรรมที่ 3. กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช
2. กรอบการใช้ประโยชน์ กิจกรรมที่ 4. กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช
กิจกรรมที่ 5. กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช
กิจกรรมที่ 6. กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช
3. กรอบการสร้างจิตสำนึก กิจกรรมที่ 7. กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
กิจกรรมที่ 8. กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

 

TOP